ทองคำโลกมีโอกาสถึง 3,000 ดอลลาร์หรือไม่?
Gold Bullish
- ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สงครามยูเครน-รัสเซีย สงครามอิสราเอล-ฮามาส
- ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำต่อเนื่อง
- แนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้
- ความต้องการทองจากกระแส De-Dollarization
Gold Bearish
- เงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับสูงกว่าเป้าหมาย
ทองคำโลกมีโอกาสถึง 3,000 ดอลลาร์หรือไม่?
ทองคำยังคงมีแรงซื้ออย่างแข็งแกร่ง แม้จะเผชิญแรงเทขายออกมาบ้าง แต่ทุกครั้งที่มีแรงขายออกมา ก็จะมีแรงซื้อกลับที่ค่อนข้างแข็งแกร่งกว่า แม้เงินดอลลาร์จะแข็งค่า แต่ไม่ได้กระทบต่อราคาทองคำเท่าไหร่นัก ซึ่ง ณ ตอนนี้คาดว่าประเด็นหลักที่อาจส่งผลต่อราคาทองคำในสัปดาห์นี้ นั่นคือ แรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย จากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งล่าสุดอิหร่านส่งโดรนโจมตีอิสราเอลหลายสิบลำ เปิดปฎิบัติการโจมตีทางอากาศ โดยก่อนหน้านี้กองกำลังพิทักษ์การปฎิวัติอิหร่านยึดเรือสินค้าเกี่ยวข้องกับระบบไซออนิสต์ที่มีความเชื่อมโยงกับอิสราเอลได้ ซึ่งใกล้บริเวณช่องแคบฮอร์มุส ซึ่งเป็นน่านน้ำสำคัญต่อการค้าโลก ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการตอบโต้อิสราเอลตามที่เคยประกาศไว้หรือไม่? การโจมตีจากอิหร่านนั้นอาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะทำให้สงครามบานปลายมากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่ใช่สงครามตัวแทน (Proxy war) อีกต่อไป อาจจะนำไปสู่สงครามโดยตรง (Direct war) ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่สหรัฐเข้ามาร่วมวงเพื่อสนับสนุนอิสราเอลด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในเมื่ออิสราเอลเป็นฝ่ายโจมตีสถานกงสุลของอิหร่านก่อนแล้ว การกระทำของอิหร่านในครั้งนี้ ก็น่าจะเป็นการตอบโต้ที่พอสมควร หากเป็นไปในลักษณะนี้ สถานการณ์ก็น่าจะไม่ลุกลามรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งกรณีที่สหรัฐหรืออิสราเอลเลือกที่จะโจมตีไปยังกลุ่มก่อการร้ายหรือกลุ่มที่มองได้ว่าเป็นพันธมิตรของอิหร่าน แต่ไม่ได้โจมตีอิหร่านโดยตรง กรณีนี้ ผลกระทบก็น่าจะรุนแรงน้อยกว่าการที่อิสราเอลหรือสหรัฐเปิดฉากโจมตีโดยตรงไปยังอิหร่าน
ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น หากเกิดสงครามโดยตรง (Direct war) จะส่งผลต่อความเสี่ยงอย่างรุนแรงในตลาดการเงิน น้ำมันที่พุ่งสูงอาจทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นอีก 1.2% มีโอกาสที่ทำให้เงินเฟ้อโลกอยู่ที่ 6.7% ในปีนี้ ส่วน GDP ทั่วโลกลดลง 1% ส่งผลให้ GDP โลกเหลือเพียง 1.7% ซึ่งเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้การที่ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัญหาในตะวันออกกลาง อาจส่งผลต่อเงินเฟ้อ และอาจจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐไม่สามารถปรับลดดอกเบี้ยลงได้ตามที่นักลงทุนเคยประเมินไว้ นอกจากนี้จะมีแรงซื้อทองคำอย่างแข็งแกร่งมาก อาจดันราคาทองคำพุ่งไม่หยุดไปสู่ All-Time High ใหม่อีกครั้ง หากสงครามมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยรูปแบบการเคลื่อนไหวทางเทคนิคในลักษณะถ้วยกาแฟ (Cup & Handle) ที่ประเมินได้ว่าราคาทองคำโลกมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นไปสูงกว่า 2,500 ดอลลาร์ หรืออาจจะไปสูงสุดใกล้ๆ 3,000 ดอลลาร์เลยทีเดียว
ปัจจัยรองลงมาในสัปดาห์นี้ คือการลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นปัจจัยหลักมาตลอด ณ ตอนนี้ตลาดเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมองโดยคาดการณ์ว่าเฟดจะเลื่อนการปรับลดดอกเบี้ยออกไป จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. ซึ่ง ณ ตอนนี้มีแนวโน้มที่เฟดจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในช่วงเดือนก.ค. หรือไม่ก็ช่วงเดือนก.ย. นอกจากนี้คาดว่าเฟดจะเหลือลดดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปีนี้ จากเดิม 3 ครั้ง
ขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำต่อเนื่องยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนทองคำตลอดมา โดยปี 2565-2566 ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำมากกว่า 1,000 ตันต่อปี ซึ่งปีนี้ธนาคารกลางทั่วโลกยังคงเดินหน้าซื้อทองคำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้จีนเข้าซื้อทองคำมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ถือว่าเป็นการเข้าซื้อทองคำต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ติดต่อกัน รองลงมาก็จะเป็นตุรกี และอินเดียตามมาเป็นอันดับ 3
สัปดาห์ก่อนราคาทองคำได้ดีดตัวขึ้นทำ All-Time High อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดปรับตัวขึ้นระดับสูงสุดที่ 2,431 ดอลลาร์ ซึ่งราคาทองคำยังคงยก High และ Low ขึ้นต่อเนื่อง แม้จะเกิดแรงเทขายแรงในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้คาดว่าราคาทองคำมีแนวโน้มที่ปรับตัวขึ้น และอาจมีแรงซื้อเข้ามาอย่างแข็งแกร่ง หากยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับสงคราม อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ในตะวันออกกลางเริ่มผ่อนคลายลง อาจมีแรงเทขายออกมาเช่นกัน โดยสัปดาห์นี้ติดตามสถานการณ์ตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด