นายหยาน หลี่ อาจารย์ภาควิชาธุรกิจของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า การที่ยุโรปไม่มีนโยบายด้านการเงินที่เป็นอิสระ เป็นอีกหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ระบบธนาคารของยุโรปตกอยู่ในภาวะปั่นป่วน นอกเหนือไปจากผลกระทบที่ลุกลามมาจากวิกฤตการเงินในสหรัฐ
นายหยานระบุว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นกับธนาคารเครดิต สวิส และดอยซ์แบงก์ สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของธนาคารในยุโรป เมื่อธนาคารเหล่านี้ต้องพึ่งพาระบบการเงินระหว่างประเทศในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมากเกินไป
“ความเสี่ยงด้านการเงินเชิงระบบและการขาดความเชื่อมั่น ทั้งสองปัจจัยนี้ก่อให้เกิดวิกฤตในภาคธนาคารของยุโรป สถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ภาคธนาคารและเศรษฐกิจของยุโรปต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากในอนาคต”
“ทางด้านสหรัฐนั้น อาจจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้น ภาคธนาคารในยุโรปจะเผชิญกับความเสี่ยงเชิงระบบมากยิ่งขึ้น” นายหยานกล่าว
อย่างไรก็ตาม นายหยานกล่าวว่า วิกฤตการธนาคารในบางประเทศของยุโรปและในสหรัฐขณะนี้ อาจจะไม่เลวร้ายเหมือนครั้งที่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551
ทั้งนี้ เครดิต สวิส ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ ถูกเข้าซื้อกิจการโดยธนาคารยูบีเอส (UBS) หลังเผชิญปัญหาสภาพคล่องและความผันผวนของตลาด ส่วนในเดือนมี.ค. ราคาหุ้นของดอยซ์แบงก์ ธนาคารรายใหญ่ที่สุดของเยอรมนีร่วงลงอย่างหนัก หลังจาก Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของดอยช์แบงก์พุ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของทางธนาคาร
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์