ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ในวันพุธ (3 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณไม่เร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ย
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 39,127.14 จุด ลดลง 43.10 จุด หรือ -0.11%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,211.49 จุด เพิ่มขึ้น 5.68 จุด หรือ +0.11% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,277.46 จุด เพิ่มขึ้น 37.01 จุด หรือ +0.23%
ในช่วงแรกนั้น ตลาดได้รับปัจจัยหนุนจากความหวังที่ว่าเฟดจะเริ่มพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 51.4 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 52.6 ในเดือนก.พ. โดยดัชนีภาคบริการเดือนมี.ค.ปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และลดลงสู่ระดับต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 52.7
ตลาดลดช่วงบวกในเวลาต่อมา หลังจากนายพาวเวลยังคงย้ำจุดยืนในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมว่าด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจซึ่งจะจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเมื่อวานนี้ว่า เฟดจะไม่เร่งรีบในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เมื่อพิจารณาจากเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาดในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา กล่าวในรายการ “Squawk Box” ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซีเมื่อวานนี้ว่า เขาคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ และจะเกิดขึ้นในไตรมาส 4/2567 พร้อมกับกล่าวว่าประสิทธิภาพการผลิตที่แข็งแกร่ง และการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่น สิ่งเหล่านี้ล้วนบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลงช้ากว่าที่มีการคาดการณ์ไว้
ความเห็นของนายบอสติกสวนทางกับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ในการประชุมเฟดเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่เฟดยังคงส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้
หุ้น 7 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มบริการด้านการสื่อสารปรับตัวขึ้น 0.7% และดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้น 06% ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ร่วงลง 1.1% และดัชนีหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภค ลดลง 0.4%
หุ้นอินเทล ร่วงลง 8.2% และเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อดัชนีดาวโจนส์ หลังจากอินเทลเปิดเผยต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) ว่า ธุรกิจการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของบริษัทขาดทุนจากการดำเนินงาน 7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2566 ซึ่งขาดทุนมากกว่าระดับของปี 2565 ที่ 5.2 พันล้านดอลลาร์
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการรายงานเมื่อคืนนี้ ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 184,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2566 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 148,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 155,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ.
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนมี.ค.ของสหรัฐในวันศุกร์นี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 205,000 ตำแหน่ง ซึ่งชะลอตัวลงหลังจากที่เพิ่มขึ้น 275,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.9% ในเดือนมี.ค.
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์