Gold Bullish
- ภาวะเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย
- ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ได้แก่ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทวีความรุนแรงขึ้น ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน
- หนี้สหรัฐชนเพดานที่ระดับ 31.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
- การใกล้ยุติวงจรขาขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
Gold Bearish
- การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีความคืบหน้ามากขึ้น
- การคลายความกังวลของวิกฤตภาคธนาคาร
ความต้องการทองคำในจีนพุ่งสูงขึ้นอย่างแข็งแกร่ง หนุนราคาทองคำในตลาดโลก
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาทองคำปรับตัวลดลง จากแรงเทขายทำกำไร รวมถึงดอลลาร์แข็งค่า และ Bond Yield สหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะตลาดกังวลว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไป เนื่องจากเงินเฟ้อยังสูง หลังจากเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายต่างออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับดอกเบี้ย ก่อนที่เฟดจะเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ในวันที่ 22 เม.ย. ซึ่งเฟดจะมีการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 2-3 พ.ค. นี้ ขณะที่ช่วงกลางสัปดาห์ก่อนจีนได้มีการเปิดเผยจีดีพีจีนไตรมาส 1 ขยายตัว 4.5% สูงกว่าคาด ส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนลงเล็กน้อยหนุนราคาทองคำให้มีการฟื้นตัว อย่างไรก็ตามช่วงปลายสัปดาห์ราคาทองคำก็ปรับตัวลงแรงอีกครั้ง ทั้งนี้การเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจของจีนที่มีการฟื้นตัว เนื่องจากจีนเริ่มมีการเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ตั้งแต่เดือนมกราคม ส่งผลต่อความต้องการทองคำโลกอย่างมาก
.
ถ้าเคยติดตามบทความของทางฮั่วเซ่งเฮงที่เคยเขียนเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้น ส่งผลต่อความต้องการทองคำมากขึ้น จากที่การขยายตัวของ GDP รายไตรมาสของจีนกับการบริโภคทองคำมีค่าสหสัมพันธ์ค่อนข้างสูง และจีนเป็นผู้ใช้ทองคำรายใหญ่ที่สุดของโลก หลังจากที่จีนเปิดประเทศนั้นความต้องการทองคำของจีนก็เพิ่มขึ้น มีการถอนทองคำออกจาก Shanghai Gold Exchange (SGE) รวม 157 ตันในเดือนมีนาคม ซึ่งเพิ่มขึ้น 57 ตันจากปีก่อน นี่คือภาพสะท้อนของอุปสงค์ค้าส่งในไตรมาส 1 ที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ปี 2562 และส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในตลาดทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่มีการไหลเข้ากองทุน ETF ทองคำของจีนเป็นครั้งแรกในปี 2566 กว่า 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ
กราฟแสดงการถอนทองคำออกจาก Shanghai Gold Exchange (SGE)
ทั้งนี้ความต้องการทองคำในจีนเริ่มพุ่งสูงขึ้นนับตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 จากที่รัฐบาลจีนเริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดมาตราการโควิด ส่งผลอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น โดยจีนมีการนำทองคำกว่า 1,343 ตันในปี 2565 ซึ่งเป็นการนำเข้าทองคำที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2561 และเพิ่มขึ้นกว่า 64% จากปี 2564 นอกจากนี้ธนาคารประชาชนจีนกลับมาซื้อทองคำอย่างเป็นทางการอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน และยังคงซื้อต่อเนื่องติดต่อกัน 5 เดือน โดยมียอดสะสมเข้าซื้อในช่วงเวลา 5 เดือนเพิ่มขึ้นกว่า 120 ตัน ทำให้ปริมาณทองคำสำรองของจีนทั้งหมดกว่า 2,068 ตัน ขณะที่การนำเข้าทองคำของจีนมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 244 ตันในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 ซึ่งมากสุดในรอบปีนับตั้งแต่ปี 2558 สอดคล้องกับความต้องการทองคำค้าส่งที่แข็งแกร่งและแนวโน้มของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
แนวโน้มราคาทองคำคาดอยู่ในช่วงของการปรับฐาน
ราคาทองคำพยายามสร้างฐานที่ 1,965-1,970 ดอลลาร์
ถ้าหลุดแนวรับดังกล่าวคาดว่าจะมีแรงเทขายออกมามาก
และจะปรับตัวลงไปที่แนวรับ 1,950 ดอลลาร์