ทองโลกและทองไทยเดือนมี.ค.ปรับขึ้นสูงที่สุด
Gold Bullish
- ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สงครามยูเครน-รัสเซีย สงครามอิสราเอล-ฮามาส
- ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำต่อเนื่อง
- แนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้
- ความต้องการทองจากกระแส De-Dollarization
Gold Bearish
- เงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับสูงกว่าเป้าหมาย
ทองโลกและทองไทยเดือนมี.ค.ปรับขึ้นสูงที่สุดกว่าทุกปีในอดีตผ่านมา
ราคาทองแท่งในประเทศปรับตัวขึ้นแรง ซึ่งล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมาทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 38,550 บาท ถือว่าปรับตัวสูงขึ้น 14.56% จากต้นปี ซึ่งในปีนี้ราคาทองคำทำ All-time high ไปแล้ว 19 ครั้ง ราคาทองโลกปรับขึ้น All-time high แตะ 2,234 ดอลลาร์ ซึ่งปรับตัวขึ้นมา 8.2% จากต้นปี ส่วนเงินบาทอ่อนค่าแตะ 36.50 บาท โดยทองคำในประเทศปรับตัวขึ้นแรงกว่าทองคำโลก เนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเป็นปัจจัยที่คอยสนับสนุนราคาทองในประเทศ นอกจากนี้ราคาทองโลกและราคาทองไทยเดือนมี.ค.ทุบสถิติปรับตัวขึ้นสูงที่สุดกว่าทุกปีในอดีตที่ผ่านมา โดยราคาทองโลกเดือนมี.ค.นั้นได้ปรับตัวขึ้นกว่า 9.28% ส่วนราคาทองคำแท่งในประเทศได้ปรับขึ้นกว่า 11.42% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของแต่ละปีในอดีตที่ผ่านมา
ทั้งนี้ราคาทองคำยังคงได้รับปัจจัยหนุนจาก แนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ตลาดยังคงคาดว่าเฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. เป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเกี่ยวกับดอกเบี้ยของสหรัฐนี้ เราอาจตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นเรื่องการเมืองของสหรัฐ เพราะปลายปีนี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ธนาคารกลางสหรัฐจึงอาจใช้นโยบายที่เอื้อให้กับรัฐบาล ด้วยการปรับลดดอกเบี้ยลง เนื่องจากในการประชุมครั้งหลังสุดของธนาคารกลางสหรัฐได้ปรับมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อนหน้า เช่นเดียวกับระดับเงินเฟ้อ ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐประเมินว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าการประมาณการครั้งก่อน และหากพิจารณาจากโมเดลการประเมินเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐ พบว่าดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 5.5 สูงกว่าระดับที่ธนาคารกลางสหรัฐคำนวณผ่านโมเดลด้วยสมมติฐานต่างๆ ซึ่งประเมินไว้ที่ร้อยละ 4.7 ดังนั้นโอกาสที่จะมีการปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 2-3 ครั้ง และจะมีการปรับลดเร็วที่สุดราวเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม เพราะเป็นช่วงใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ
ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยังคงต้องจับตาสงครามที่อาจร้อนระอุขึ้นมาได้ ความต้องการทองจากกระแส De-Dollarization รวมถึงความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีนี้ ซึ่งต้องติดตามนโยบายต่างๆของผู้สมัครลงแข่งขันเป็นประธานาธิบดีสหรัฐทั้งพรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกัน โดยไตรมาสแรกของปีนี้ ผลการเลือกตั้งของแต่ละพรรคออกมาว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ และนายโจ ไบเดน ได้รับชัยชนะในการเป็นตัวแทนของพรรค และหลังจากนี้เป็นต้นไป คาดว่าทั้งสองคนจะกล่าวถึงนโยบายที่จะนำมาใช้หากได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ซึ่งจะกระทบต่อมุมมองของนักลงทุน ทั้งเรื่องการค้าระหว่างประเทศการลงทุนหรือแม้แต่นโยบายเศรษฐกิจ ดังเช่นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ได้กล่าวถึงการนำอัตราแลกเปลี่ยนที่อิงกับราคาทองคำกลับมาใช้ โดยมีการเอ่ยถึงว่าสหรัฐไม่มีทองคำแล้ว ซึ่งประเด็นนี้ยังเป็นข้อกังหาว่า สหรัฐยังคงมีทองคำอยู่หรือไม่? ทั้งนี้จากข้อมูลที่เคยเผยออกมานั้นสหรัฐได้มีการนำทองคำไปเก็บไว้ที่ฟอร์ท น็อกซ์ รัฐเคนทักกี และที่ US Federal Reserve สาขานิวยอร์ก แต่ที่ผ่านมานั้น ไม่ได้มีการตรวจสอบเช็กสต๊อกอย่างเป็นทางการมานาน ทำให้เกิดคำถามว่าทองคำที่มีอยู่อาจจะไม่มีก็ได้ อย่างไรก็ตามหากมีการนำอัตราแลกเปลี่ยนที่อิงกับราคาทองคำกลับมาใช้ คาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจมากพอสมควร เพราะปริมาณทองคำที่มีอยู่ในโลก มีไม่เพียงพอกับปริมาณการค้าระหว่างประเทศ สภาพคล่องในระบบจะหดหายไป แม้จะทำให้ราคาทองปรับตัวขึ้น แต่จะกระทบกับภาคส่วนอื่นๆโดยยากจะหลีกเลี่ยง ซึ่งเราประเมินว่า โอกาสที่จะนำมาตรฐานทองคำกลับมาใช้กับอัตราแลกเปลี่ยนคงเป็นไปได้ยาก
ราคาทองคำปิดตลาดใกล้ All-Time High และยังทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับสัญญาณทางเทคนิคของราคาทองคำรายวันดูดี เส้น MACD ตัด Signal line ขึ้นมาได้ ทำให้คาดว่าราคาทองคำมีแนวโน้มปรับขึ้นได้ต่อ ทั้งนี้เป้าหมายราคาทองคำปีนี้อยู่ที่ 2,300 ดอลลาร์ ซึ่งอาจมี upside เหลือไม่มาก สัปดาห์นี้ราคาทองคำมีแนวรับอยู่ที่ 2,210 ดอลลาร์ และ 2,200 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้าน 2,280 ดอลลาร์ และแนวต้าน 2,300 ดอลลาร์ ส่วนราคาทองแท่งในประเทศมีแนวรับ 38,200 บาท และ 38,000 บาท ขณะที่มีแนวต้านที่ 39,000 บาท